Anjali clinic Logo
wellness

การตรวจเลือด ช่วยเผยความลับของสุขภาพได้อย่างไร?

ในวงการแพทย์ การตรวจเลือด จัดเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้น แนวโน้มความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น

by: anjali-adminอัพเดทเมื่อ: 2023-10-11

Wellness image

“เลือด” คือ ของเหลวที่ไหลผ่านเส้นเลือดของเรา นอกจากจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตแล้ว เลือดก็ยังทำหน้าที่ “กุมความลับ” ที่เกี่ยวกับสุขภาพเอาไว้อีกด้วย โดยการตรวจเลือดสามารถเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของเราได้

ในวงการแพทย์ การตรวจเลือด จัดเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้น แนวโน้มความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น ในบทความนี้ เราจะพาคุณมาเจาะลึกว่าการตรวจเลือดคืออะไร ตรวจเพื่ออะไร เช็กอะไรได้บ้าง และเหตุใดจึงมีความสำคัญ ในการดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่

การตรวจเลือด (Blood Test)คืออะไร?

การตรวจเลือด หรือที่เรียกว่า Blood test เป็นการตรวจเช็กทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของคุณ และการเก็บตัวอย่างเลือด จะผ่านการเก็บมาจากกระบวนการที่เรียบง่ายและไม่เจ็บ เช่น การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำที่แขนของคุณ

การตรวจเลือดจะใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับการตรวจเลือดตามหลักมาตรฐาน เช่น การตรวจเม็ดเลือด เช็กค่าตับและไต เช็กระดับน้ำตาล เป็นต้น แต่สำหรับการตรวจพิเศษ เช่น ผลการเพาะเชื้อจากเลือด (Hemo culture) อาจต้องใช้เวลาเป็นวัน ซึ่งการตรวจเลือด สามารถเช็กสุขภาพได้ในหลาย ๆ ด้าน

ตรวจเลือดเพื่อเช็ก ภาวะบกพร่องเอนไซม์ G6PD

การขาดกลูโคส - 6 - ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส (G6PD) จัดเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ผู้ที่มีอาการนี้มักมีเอนไซม์ G6PD ไม่เพียงพอ ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องเซลล์เม็ดเลือดแดงจากความเสียหาย ถ้ามีภาวะบกพร่องเอนไซม์ G6PD

ก็จะสามารถนำไปสู่โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลายเร็วกว่าที่สามารถผลิตได้

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจการขาดเอนไซม์ คือ ผู้ที่มักมีอาการตัวซีด ตัว - ตาเหลือง มีปัสสาวะสีเข้มหรือสีดำ ซึ่งภาวะขาด G6PD จะได้รับการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด โดยการวัดระดับกิจกรรม G6PD ในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีการเก็บตัวอย่างเลือด ด้วยการดึงมาจากหลอดเลือดดำที่แขน

กรณีตรวจพบภาวะบกพร่องเอนไซม์ G6PD ก็จะมีการวางแผนการป้องกัน และหลีกเลี่ยงการทานอาหารและยาที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ร่วมกับการฉีดวัคซีนที่ป้องกันโรคติดเชื้อที่พบบ่อย ป้องกันการเกิดเม็ดเลือดแดงแตกจากการติดเชื้อ

ตรวจเลือดเพื่อเช็กความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง

มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน ซึ่งการเป็นมะเร็งสามารถเกิดกับใครก็ได้ ดังนั้นเพื่อช่วยในการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ การตรวจเลือดเพื่อเช็กความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด


โดยการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเช็กหาสารในเลือดที่เฉพาะเจาะจง ที่จะบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง หรือการมีอยู่ของเซลล์มะเร็งได้ โดยการตรวจความเสี่ยงมะเร็ง เป็นการเช็กข้อบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง เช่น

  • การทดสอบ PSA: การตรวจเลือดหาค่ามะเร็งเป็นการแอนติเจนในต่อมลูกหมาก (PSA) วัดเพื่อประเมินความเสี่ยง การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย
  • การทดสอบ CA - 125: ใช้ในการตรวจหามะเร็งรังไข่ และติดตามผลการรักษา
  • การทดสอบ CEA: เช็กแอนติเจนของคาร์ซิโนเอ็มบริโอนิก (CEA) เพื่อตรวจความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน หรือมะเร็งอื่น ๆ
  • การทดสอบ AFP: Alpha - fetoprotein (AFP) เพื่อหาความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับ และอัณฑะ
  • การทดสอบ CA 19 - 9: ระดับ CA 19 - 9 จะเพิ่มขึ้น ในผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อน ตับ หรือท่อน้ำดี
  • การทดสอบยีน BRCA: เป็นการตรวจเลือดทางพันธุกรรม ที่สามารถระบุการกลายพันธุ์ในยีน BRCA ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งเต้านม และรังไข่

หากผลลัพธ์ของการตรวจความเสี่ยงมะเร็ง บ่งชี้ออกมาว่า มีความเสี่ยงในการที่จะเป็นมะเร็ง หรือตรวจพบการเกิดมะเร็งขึ้นมาแล้ว ก็จะมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อเช็กความชัวร์ เช่น การสแกนด้วยภาพ (เช่น การสแกน CT, MRI) หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ และเมื่อได้รับการยืนยันแล้ว ก็จะมีแนวทางวางแผนในการรักษาต่อไป

Wellness image

การตรวจเช็กวิตามิน ในร่างกาย

ร่างกายของเรา จำเป็นต้องมีการทำงานของวิตามินหลากหลายชนิดเพื่อทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างแข็งแรง และมีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งการขาดวิตามินบางตัว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

การตรวจเลือดเพื่อเช็กวิตามินในร่างกาย เป็นการประเมินตรวจวิตามินในร่างกายของเรา และนำไปวางแผนในการดูแลสุขภาพต่อไป การตรวจเลือดเพื่อหาวิตามินเป็นการตรวจเพื่อวัดระดับความเข้มข้นของวิตามินจำเพาะในกระแสเลือด ซึ่งวิตามินที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมี ได้แก่

  • วิตามิน D: จัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพของกระดูก
  • วิตามิน B12: จำเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาท และการผลิตเม็ดเลือดแดง การเช็กระดับวิตามินบี 12 เพื่อตรวจหาข้อบกพร่องที่อาจนำไปสู่โรคโลหิตจาง และปัญหาทางระบบประสาท
  • โฟเลต (วิตามินบี 9): ทำหน้าที่ในการแบ่งเซลล์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ การตรวจเลือดสามารถเช็กการขาดโฟเลตของร่างกายได้
  • วิตามิน C: วิตามินต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพผิว กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการรักษาบาดแผล
  • วิตามิน A: มีความสำคัญต่อการมองเห็น การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพผิว

การตรวจหาวิตามินในร่างกาย เป็นการตรวจจับข้อบกพร่องของวิตามิน โดยการขาดวิตามินอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ อีกทั้งยังเกิดความเหนื่อยล้าง่าย อ่อนแรง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการตรวจเลือดเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล นำมาวางแผนในการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคร้ายแรงขึ้นในอนาคต

Wellness image

ตรวจหาโรคมะเร็งเชิงป้องกัน เช็กโอกาสการเกิดของมะเร็ง

การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโอกาสในการเกิดมะเร็ง หรือการตรวจหามะเร็งเชิงป้องกัน ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของการดูแลสุขภาพยุคใหม่ เพราะเป็นการค้นหาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่ซ่อนอยู่ก่อนที่อาการจะปรากฏ เป็นตรวจเช็กข้อบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือสารในกระแสเลือด ที่อาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง หรือการมีอยู่ของเซลล์มะเร็ง แม้ว่าจะไม่แสดงอาการก็ตาม

การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองมะเร็งเชิงป้องกัน มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และไม่ควรมองข้าม เพราะการรักษามะเร็งสามารถรักษาได้ดีที่สุด เมื่อตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ดังนั้นการตรวจเลือดจึงอาจทำให้ผู้ที่เป็นมะเร็ง (แบบไม่แสดงอาการ) มีโอกาสได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสหาย

และยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็ง หรืออาจกังวลเพราะมีเหตุคลุกคลีกับปัจจัยอื่น ๆ การตรวจคัดกรองมะเร็งเชิงป้องกันจะช่วยทำให้เกิดความอุ่นได้มากขึ้น มะเร็งที่อาจพบได้ เช่น

  • มะเร็งมดลูก
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งลำไส้เล็ก
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งตับ
  • และอื่น ๆ

Wellness image

การตรวจเลือดเพื่อเช็กฮอร์โมน

ฮอร์โมน จัดเป็นสื่อสำคัญในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการทางสรีรวิทยาที่หลากหลาย การตรวจเลือดเพื่อเช็กฮอร์โมน จัดเป็นการวินิจฉัยที่ใช้วัดระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ไหลเวียนในกระแสเลือด โดยฮอร์โมนก็คือสารเคมีที่ถูกส่งออกมาจากต่อมต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง และอื่น ๆ

การตรวจเช็กฮอร์โมน จะทำให้คุณเข้าใจถึงการผลิตฮอร์โมน ของร่างกายตัวเอง และตรวจสอบความไม่สมดุลที่อาจเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่สมควรได้รับการตรวจฮอร์โมนมากที่สุด ได้แก่

  • ผู้หญิงอยู่ในช่วงวัยทอง : การตรวจระดับฮอร์โมนพื้นฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 40-59 ปี หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่อาการของต่อมไทรอยด์ : ผู้ที่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เช่น รู้สึกเหนื่อยล้า น้ำหนักเปลี่ยน หรือมีอารมณ์แปรปรวน อาจต้องทำการทดสอบฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน : เช่น กระหายน้ำมากเกินไป ปัสสาวะบ่อย มีมดตอมปัสสาวะ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับอินซูลินและกลูโคส

ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกายต่าง ๆ ตั้งแต่ควบคุมระบบการเผาผลาญ ไปจนถึงการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งการตรวจเลือดเพื่อการตรวจฮอร์โมนจะทำให้คุณเข้าใจว่าระดับฮอร์โมนของตัวเองอยู่ในช่วงปกติหรือไม่

การตรวจระดับวิตามิน D

การตรวจเลือดเพื่อเช็กระดับวิตามิน D หรือที่เรียกว่าการทดสอบวิตามินดี 25 - ไฮดรอกซี เป็นการวัดความเข้มข้นของวิตามินD ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะตรวจจับระดับของ 25 - hydroxyvitamin D ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของวิตามินดีที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด

ผู้ที่สมควรตรวจหาวิตามิน D คือ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพกระดูก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีประวัติกระดูกหัก หรือคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรตรวจสอบระดับวิตามิน D ของตนเอง เนื่องจากการขาดวิตามินชนิดนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้

นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะที่ส่งผลต่อการดูดซึมไขมัน (เช่น โรคเซลิแอก โรคโครห์น) หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลดน้ำหนัก อาจมีปัญหาในการดูดซึมวิตามินD ตามมา ดังนั้นการตรวจระดับวิตามิน D ในเลือดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ

Wellness image

การตรวจเลือดเพื่อ เช็กสุขภาพพื้นฐาน

การตรวจสุขภาพพื้นฐานหรือการตรวจร่างกายประจำปี ถือเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพของตนเอง และนำข้อมูลผลลัพธ์จากการตรวจที่ได้ไปใช้ในการวางแผนดูแลสุขภาพของตัวเองต่อไป

  • การทำงานของไต เป็นการประเมินว่าไตของคุณทำงานได้ดีขนาดไหน ด้วยการวัดระดับของเสียและอิเล็กโทรไลต์ในเลือด รวมถึงครีเอตินีนและยูเรียไนโตรเจนในเลือด (BUN)
  • ไขมันในเลือด คือ การวัดไขมันประเภทต่าง ๆ ในเลือดของคุณ รวมถึงคอเลสเตอรอลรวม, คอเลสเตอรอล LDL (ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ), คอเลสเตอรอล HDL (ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง) และไตรกลีเซอไรด์
  • น้ำตาลในเลือด (การทดสอบกลูโคสในเลือด) เป็นการวัดความเข้มข้นของกลูโคสในเลือด เพื่อหาโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน
  • ค่าเม็ดเลือด หรือ CBC คือการประเมินส่วนประกอบต่าง ๆ ของเลือดของคุณ รวมถึงการตรวจสอบเซลล์เม็ดเลือดแดง (RBCs) เซลล์เม็ดเลือดขาว (WBCs) และเกล็ดเลือด เพื่อเฝ้าระวังโรคโลหิตจาง การติดเชื้อ ภาวะเลือดออกผิดปกติ และมะเร็งบางชนิด
  • การทำงานของตับ มีการประเมินเอนไซม์ โปรตีน และสารต่าง ๆ ในเลือด รวมถึงอะลานีนทรานซามิเนส (ALT), แอสพาเทตทรานซามิเนส (AST), อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (ALP), บิลิรูบิน และอัลบูมิน ทำหน้าที่ประเมินสุขภาพและการทำงานของตับ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง หรือโรคไขมันพอกตับ
  • เกลือแร่ในร่างกาย เป็นการวัดระดับแร่ธาตุที่จำเป็นในเลือด รวมถึงโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม คลอไรด์ และไบคาร์บอเนต (คาร์บอนไดออกไซด์) โดยที่อิเล็กโทรไลต์มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายด้าน รวมถึงการทำงานของเส้นประสาท การหดตัวของกล้ามเนื้อ

การตรวจเลือดเป็นประจำในทุก ๆ ปี จะส่งผลทำให้คุณเกิดความอุ่นใจ เกิดความสบายใจในเรื่องของสุขภาพของตนเองอย่างแน่นอน การดูแลสุขภาพควรเป็นสิ่งที่เราทุกคนให้ความสนใจมาเป็นอันดับ 1 เพราะการมีสุขภาพที่ดี จัดเป็นรากฐานของการมีชีวิตที่ดีในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การหาเงิน การได้อยู่กับคนรัก อยู่กับครอบครัวด้วยความสมบูรณ์พูนสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้นเราจึงอยากชวนคุณมาตรวจเลือด และตรวจสุขภาพกันแบบเป็นประจำ